หรีดมาลาสั่งซื้อ ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
หรีดมาลา
หรีดมาลา
หรีดมาลา

ประกาศเวลาทำการช่วงปีใหม่! 27 - 30 ธ.ค. เปิดให้บริการ 8:00–20:00 น และ 31 ธ.ค. - 1 ม.ค. เปิดให้บริการ 9:00–18:00 น. (จัดส่งรอบเดียว 17.00-18.00 น.)

เผย 10 ความเชื่อโบราณในการจัดพิธีงานศพไทยในสมัยก่อนที่คุณอาจยังไม่เคยรู้!

การจัดพิธีงานศพไทยในสมัยก่อน

เครดิตภาพ: https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=8930

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป อะไร ๆ ก็ต้องเปลี่ยนตาม ไม่เว้นแม้แต่การจัดพิธีงานศพไทยในสมัยก่อนค่ะ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอน พิธีกรรม และความเชื่อที่แตกต่างจากสมัยนี้มาก โดยทั้งความเชื่อและขั้นตอนการจัดดอกไม้งานศพ หรือพิธีงานศพบางอย่าง บางขั้นตอนก็แทบจะเลือนหายไปตามกาลเวลา ทำให้คนในยุคปัจจุบันไม่เคยทราบมาก่อนว่าเคยมีอยู่จริง วันนี้หรีดมาลาเลยจะมาเผยว่าขั้นตอนการจัดพิธีนี้มีความเชื่อโบราณว่าอย่างไร เพื่อให้คนรุ่นหลังอย่างเรา ๆ ได้ทราบกันค่ะ

1. เทียนขี้ผึ้ง

เทียนขี้ผึ้งเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งของการจัดพิธีงานศพไทยในสมัยก่อนที่จะตรวจสอบได้ว่าผู้ล่วงลับนั้นเสียชีวิตจริงหรือไม่? เนื่องจากในสมัยก่อนนั้นยังไม่มีเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยเพียงพอจะยืนยันการเสียชีวิตได้ค่ะ ดังนั้นเวลาที่มีคนหยุดหายใจ ชาวบ้านก็จะจุดเทียนขี้ผึ้งหนึ่งเล่มขึ้นมาและรอจนกว่าเทียนจะละลายหมดเล่มดับไปเอง หากผู้หยุดหายใจยังไม่ฟื้นก็แสดงว่าผู้นั้นเสียชีวิตไปแล้วจริง ๆ นั่นเองค่ะ

2. การอาบน้ำศพ

การอาบน้ำศพเป็นหนึ่งในขั้นตอนการจัดพิธีงานศพไทยในสมัยก่อนค่ะ เพราะเชื่อว่าการอาบน้ำศพนั้นจะช่วยให้ผู้ล่วงลับเดินทางไปสู่ภพภูมิอื่นได้อย่างสะอาดและบริสุทธิ์ค่ะ ซึ่งในอดีตนั้นจะเป็นการอาบน้ำฟอกสบู่ให้กับศพในทุกส่วนของร่างกาย โดยใช้น้ำสมุนไพรที่ถูกต้มทิ้งไว้จนอุ่นอาบก่อน จากนั้นก็ล้างด้วยน้ำเย็นอีกครั้ง และปิดท้ายด้วยการนำขมิ้นมาทาทั่วร่างกายศพ ต่างจากปัจจุบันที่นำน้ำมะพร้าว น้ำหอม หรือน้ำอบใส่ภาชนะแล้วนำไปราดบนร่างหรือมือของศพก่อนนำใส่โลงศพหรือนำไปเผานั่นเองค่ะ

3. การหวีผมให้ศพ

การหวีผมให้ศพนั้นเป็นขั้นตอนในการจัดพิธีงานศพไทยในสมัยก่อนที่ต่อจากการอาบน้ำศพ ซึ่งคนในสมัยก่อนจะใช้หวีเสนียด เพื่อหวีผมให้แก่ศพเป็นจำนวน 3 ครั้ง หรือหวีแบบแบ่งเป็น 2 ซีก คือหวีไปข้างหน้าซีกหนึ่ง และหวีไปข้างหลังอีกซีกหนึ่ง เพราะเชื่อว่าเป็นตัวแทนระหว่างคนที่ยังมีชีวิตอยู่และคนที่เสียชีวิตไปแล้ว จากนั้นก็ให้หักหวีเป็น 2 ท่อนทิ้ง เพื่อไม่ให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่เผลอหยิบไปใช้นั่นเองค่ะ โดยการหวีผมให้แก่ศพนั้นก็ถือเป็นปริศนาธรรมให้แก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ว่าต่อให้หวีนั้นจะเป็นหวีที่ดีมากมายเพียงใด หากถูกหักทิ้งก็จะไม่สามารถใช้งานต่อได้อีก เปรียบได้กับชีวิตของคนเราที่ไม่เที่ยงแท้ และความตายกับการเกิดเป็นของคู่กัน เมื่อมีเกิดก็ต้องมีดับค่ะ

เงินพดด้วง-เหรียญเงินปากผีของคนไทยในสมัยก่อน

เครดิตภาพ: https://www.facebook.com/Jack-Jill-Kumanthong-954759557887032/

4. เงินปากผี

เงินปากผีเป็นหนึ่งในการจัดพิธีงานศพไทยในสมัยก่อนค่ะ ซึ่งคนในสมัยก่อนนั้นจะนำเงินพดด้วงมาผูกเชือกและนำไปใส่ไว้ในปากศพระหว่างจัดงานศพ เพราะเชื่อว่าผู้ล่วงลับจะได้นำไปใช้เป็นค่าจ้างของผู้ทำหน้าที่นำดวงวิญญาณไปสู่โลกหลังความตาย หรือนำทรัพย์สินติดตัวไปใช้จ่ายในเมืองผีนั่นเองค่ะ นอกจากนั้นยังเป็นปริศธรรมให้แก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ว่าเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ต่อให้สะสมทรัพย์สมบัติไว้มากมายเพียงใดก็ไม่สามารถนำติดตัวไปได้เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว สิ่งที่จะนำไปได้ก็มีเพียงแค่บุญกับบาปเท่านั้น ดังนั้นเมื่อคนเราเกิดมาแล้วก็อย่าลุ่มหลงในทรัพย์สินหรือทรัพย์สมบัติค่ะ และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือใช้เป็นค่าจ้างของสัปเหร่อที่นำศพไปเผา เพื่อป้องกันเจ้าภาพบิดพลิ้วหรือไม่ยอมจ่ายค่าทำศพในภายหลังนั่นเองค่ะ

5. หมากปากผี

นอกจากเงินปากผีแล้ว หมากปากผีก็เป็นความเชื่อโบราณเกี่ยวกับการจัดพิธีงานศพไทยในสมัยก่อนที่คล้ายคลึงกันคือเป็นปริศนาธรรมที่สั่งสอนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ว่าหลังจากเสียชีวิตก็ไม่สามารถเคี้ยวเพื่อลิ้มรสความอร่อยของหมากได้อีกต่อไป ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าคนไทยในสมัยก่อนมักชื่นชอบการตำหมากและการเคี้ยวหมาก ดังนั้นจึงนำหมากใส่ไว้ในปากของผู้ล่วงลับ เพื่อที่จะได้เคี้ยวลิ้มรสระหว่างเดินทางไปสู่โลกหลังความตายนั่นเองค่ะ

6. ประตูป่า

การจัดพิธีงานศพไทยในสมัยก่อนนั้น ประตูป่าถือได้ว่าเป็นประตูที่ถูกสร้างขึ้นมาเฉพาะกิจสำหรับผู้เสียชีวิต เพื่อใช้เป็นเส้นทางการนำศพออกจากบ้าน ในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตภายในบ้าน คนในสมัยก่อนจะรื้อผนังบ้านออกมาแล้วนำกิ่งไม้มาปักทำเป็นซุ้มประตู โดยระหว่างที่เคลื่อนย้ายศพจะต้องให้ปลายเท้าของผู้เสียชีวิตออกมาก่อนเสมอค่ะ เพราะเชื่อว่าจะช่วยไม่ให้ศพนั้นเห็นบ้านจนเกิดจิตห่วงหาอาลัย และเมื่อศพพ้นจากประตูป่าไปแล้วจะต้องรื้อทิ้งทันทีและปิดฝาผนังบ้านให้เรียบร้อย เพื่อให้ดวงวิญญาณของศพหาทางกลับบ้านไม่ได้ เนื่องจากไม่พบประตูป่าหรือประตูผีที่ถูกทำลายลงแล้วนั่นเองค่ะ

บันไดผี บันไดที่สร้างขึ้นมาชั่วคราวสำหรับขนย้ายศพลงมาจากบ้าน

เครดิตภาพ: https://art-culture.cmu.ac.th/

7. บันไดผี

นอกจากประตูป่าหรือประตูผีจะสร้างขึ้นมาเฉพาะกิจสำหรับผู้เสียชีวิตในการจัดพิธีงานศพไทยในสมัยก่อนแล้ว บันไดผีก็ถูกสร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์เดียวกันเลยค่ะ นั่นก็คือเมื่อขนย้ายศพลงมาถึงชานบ้านเรียบร้อยแล้วก็จะต้องรื้อทิ้งทันที เพื่อไม่ให้วิญญาณของผู้ล่วงลับกลับเข้ามาในบ้านได้ เนื่องจากไม่พบเจอบันไดผีที่ทำลายทิ้งนั่นเองค่ะ

8. ซัดข้าวสารขับไล่สิ่งอัปมงคล

การซัดข้าวสารขับไล่สิ่งอัปมงคลเป็นขั้นตอนของการจัดพิธีงานศพไทยในสมัยก่อนช่วงระหว่างการขนศพออกจากบ้านค่ะ เพราะเชื่อว่าการซัดข้าวสารพร้อมบริกรรมคาถาเป็นการขับไล่สิ่งอัปมงคลให้ออกไปจากบ้านพร้อมกับศพนั่นเองค่ะ

9. โปรยข้าวสารตอก

การโปรยข้าวสารตอกจะเป็นขั้นตอนของการจัดพิธีงานศพไทยในสมัยก่อนที่ต่อเนื่องจากการซัดข้าวสารขับไล่สิ่งอัปมงคลก่อนจะเคลื่อนย้ายศพไปยังวัดนั่นเองค่ะ โดยคนในสมัยก่อนจะนำข้าวสารตอกโปรยลงพื้นไปเรื่อย ๆ ตลอดทางระหว่างเคลื่อนย้ายศพไปยังวัด ซึ่งการโปรยข้าวสารตอกนี้เป็นปริศนาธรรมให้แก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ว่าเมื่อคนเราเสียชีวิตไปแล้วย่อมไม่มีทางฟื้นคืนชีพกลับมาได้อีก เช่นเดียวกับข้าวสารตอกที่ต่อให้โปรยลงพื้นก็ไม่มีทางกลับมางอกเงยได้อีกค่ะ

10. การบอกทางวิญญาณ

แม้ว่าการบอกทางวิญญาณจะเป็นขั้นตอนของการจัดพิธีงานศพไทยในสมัยก่อนที่เห็นได้น้อยลงจนแทบไม่ค่อยมีให้เห็นในปัจจุบัน แต่ก็ยังพอมีให้เห็นบ้างในแถบภาคอีสานค่ะ ซึ่งญาติของผู้ล่วงลับจะเป็นผู้พูดบอกทางวิญญาณของผู้ล่วงลับขณะเคลื่อนย้ายศพไปยังวัด โดยบอกเป็นระยะ ๆ ว่าไปทางไหน และเลี้ยวตรงไหนบ้าง เพื่อให้วิญญาณที่กำลังเดินตามร่างของตนเองจะได้ไม่เดินหลงทางค่ะ

จากความเชื่อโบราณเกี่ยวกับการจัดพิธีงานศพไทยในสมัยก่อนที่เพื่อน ๆ ได้อ่านกันไปแล้วนั้นจะเห็นได้ว่าเกือบทุกขั้นตอนก็จะแฝงปริศนาธรรมให้แก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ถึงเรื่องราวเกี่ยวกับโลกของความตายและสัจธรรมของความไม่เที่ยงแท้ในชีวิตนั่นเองค่ะ

Banner