หรีดมาลาสั่งซื้อ ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
หรีดมาลา
หรีดมาลา
หรีดมาลา

ประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปประจำวันเกิดทั้ง 7 วัน

พระพุทธรูปประจำวันเกิดทั้ง 7 วันเครดิตภาพ: http://www.parungtip.com/articles/42236725/พระประจำวันเกิด-7-วัน.html

เวลาไปทำบุญที่วัด นอกจากชาวพุทธนิยมกราบไหว้พระประธานแล้วก็มักจะกราบไหว้พระพุทธรูปประจำวันเกิดของตนเองเพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตอีกด้วยค่ะ แล้วเพื่อน ๆ ทราบหรือไม่คะว่าพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ของวันเกิดแต่ละวันนั้นย่อมมีประวัติความเป็นมาและลักษณะที่แตกต่างกันไป วันนี้หรีดมาลาได้รวบรวมเรื่องราวเกร็ดน่ารู้เล็ก ๆ น้อย ๆ มาให้อ่านกันค่ะ

พระพุทธรูปปางถวายเนตร-พระพุทธรูปประจำวันอาทิตย์เครดิตภาพ: https://th.m.wikipedia.org/

  1. พระพุทธรูปประจำวันเกิด: วันอาทิตย์

    พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันอาทิตย์คือ “พระพุทธรูปปางถวายเนตร” ค่ะ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในพระอิริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองมองเพ่งไปข้างหน้า ส่วนพระหัตถ์ทั้งสองประสานกันอยู่ระหว่างพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับซ้อนเหลื่อมพระหัตถ์ซ้าย อยู่ในพระอาการสังวรทอดพระเนตรดูต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยมีที่มาจากเมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณและได้ประทับเสวยวิมุตติสุข หรือ “สุขที่เกิดจากความสงบ” ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นจึงเสด็จไปประทับยืนที่กลางแจ้งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ และทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยไม่กะพริบพระเนตรเลยแม้แต่น้อยตลอดระยะเวลา 7 วัน จึงนับได้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นนิมิตมหามงคลจนได้รับการขนานนามว่า “อนิมิสเจดีย์” มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้พุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นเรียกว่า “ปางถวายเนตร” นั่นเองค่ะ

    พระพุทธรูปปางห้ามญาติ-พระพุทธรูปประจำวันจันทร์

  2. พระพุทธรูปประจำวันเกิด: วันจันทร์

    พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันจันทร์คือ “พระพุทธรูปปางห้ามญาติ” หรือ “พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร” ค่ะ ซึ่งพระพุทธรูปปางห้ามญาติมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืน ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ขึ้นตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้าม แตกต่างจากพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรตรงที่ยกพระหัตถ์ขึ้นห้ามทั้งสองข้าง แต่ส่วนมากจะนิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติแบบทรงเครื่องมากกว่าค่ะ โดยพระพุทธรูปปางห้ามญาตินั้นมีที่มาจากเมื่อครั้งที่พระญาติฝ่ายพุทธบิดาที่อาศัยอยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์ และพระญาติฝ่ายพุทธมารดาที่อาศัยอยู่ในกรุงเทวทหะ ซึ่งอาศัยอยู่กันคนละฝั่งของแม่น้ำโรหิณีได้เกิดการทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรงจนถึงขั้นยกทัพทำสงครามกันเลยทีเดียวค่ะ เนื่องจากแย่งน้ำเพื่อนำไปเพาะปลูก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จไปเจรจาห้ามทัพไม่ให้พระญาติของทั้งสองฝั่งเข่นฆ่าหรือทำสงครามกันค่ะ ส่วนพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรก็มีที่มาจากเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดพวกชฎิล (นักบวชประเภทหนึ่งที่นุ่งห่มหนังเสือและบูชาไฟ) ทั้ง 3 พี่น้องคือ อุรุเวลกัสสปะ, นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ ที่ตั้งตนเป็นใหญ่บนริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พร้อมบริวารมากถึง 1,000 คน โดยพระพุทธองค์ทรงแสดงพุทธปาฏิหาริย์หลายอย่าง เช่น ห้ามลม ห้ามฝน ห้ามพายุ ห้ามน้ำท่วมที่เจิ่งนองตลิ่งไม่ให้มาต้องพระวรกายได้ รวมไปถึงสามารถเดินจงกรมใต้พื้นน้ำได้ ทำให้พวกชฎิลเห็นก็รู้สึกเป็นที่อัศจรรย์ใจยิ่งนัก จึงยอมบวชเป็นพุทธสาวกค่ะ

    พระพุทธรูปปางไสยาสน์–พระพุทธรูปประจำวันอังคาร

  3. พระพุทธรูปประจำวันเกิด: วันอังคาร

    พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันอังคารคือ “พระพุทธรูปปางไสยาสน์” หรือบางทีก็เรียก “ปางปรินิพพาน” มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างทับซ้อนเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย ส่วนพระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับอยู่ บางแบบพระเขนยจะตั้งวางอยู่ใต้พระกัจฉะ (รักแร้) โดยพระพุทธรูปปางไสยาสน์นี้มีที่มาจากตอนที่พระพุทธองค์รับสั่งให้พระจุนทะเถระปูอาสนะลงระหว่างต้นรังคู่หนึ่งแล้วทรงบรรทมแบบสีหไสยาสน์ หรือการนอนแบบราชสีห์ และตั้งพระทัยแล้วว่าจะไม่เสด็จลุกขึ้นมาอีก ทำให้พุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์ค่ะ

    พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร–พระพุทธรูปประจำวันพุธกลางวัน

  4. พระพุทธรูปประจำวันเกิด: วันพุธ

    พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันพุธนั้นจะมีอยู่ 2 แบบด้วยกันค่ะ คือ แบบ “พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร” กับ แบบ “พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์” ถ้าหากเกิดในวันพุธกลางวันเป็น “พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร” มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างประคองบาตรราวสะเอว สันพระบาตรวางชิดกัน โดยมีที่มาจากเมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ต่อหน้าพระประยูรญาติทั้งหลายด้วยการเหาะขึ้นไปบนอากาศ เพื่อให้พระญาติผู้ใหญ่ได้เห็นและลดทิฐิถวายบังคมแล้วจึงได้ตรัสเทศนาเรื่องพระมหาเวสสันดรชาดก เมื่อเทศน์เสร็จ พระญาติต่างก็แยกย้ายกันกลับและไม่มีใครทูลอาราธนาฉันพระกระยาหารเช้าในวันรุ่งขึ้น เพราะเข้าใจผิดคิดว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นพระราชโอรสและพระสงฆ์เป็นศิษย์ จึงต้องฉันภัตตาหารที่มีการจัดเตรียมไว้ให้เองในพระราชนิเวศน์ แต่พระพุทธองค์กลับทรงพาบรรดาพระภิกษุสงฆ์สาวกเสด็จจาริกไปโปรดเวไนยสัตว์ (ผู้ที่พึงสั่งสอนได้) ตามถนนหลวงในเมือง ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ประชาชนในกรุงกบิลพัสดุ์ได้มีโอกาสชมพระพุทธจริยาวัตรทรงอุ้มบาตรโปรดสัตว์ จึงต่างพากันแซ่ซ้องสรรเสริญกันอย่างสุดซึ้ง และสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้นเรียกว่า “ปางอุ้มบาตร” นั่นเองค่ะ

    พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์–พระพุทธรูปประจำวันพุธกลางคืน
    ส่วนถ้าเกิดในวันพุธกลางคืนจะเป็นแบบ “พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์” มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับ (นั่ง) บนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางบนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงายขึ้น โดยมีช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำอยู่ด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย ซึ่งพระพุทธรูปปางนี้มีที่มาจากในขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในเมืองโกสัมพี พระภิกษุสงฆ์จำนวนมากเกิดแตกความสามัคคีกันและไม่ยอมอยู่ในพุทธโอวาท พระองค์จึงเสด็จจาริกไปอาศัยอยู่ในป่าปาลิไลยกะตามลำพัง โดยมี “ปาลิไลยกะ” พญาช้างเชือกหนึ่งที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธองค์มาคอยปฏิบัติบำรุงและคุ้มครองไม่ให้สัตว์ร้ายเข้ามากล้ำกราย ทำให้พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ในป่านั้นอย่างสงบสุข เมื่อพญาลิงเห็นพญาช้างทำงานปรนนิบัติพระพุทธองค์อย่างเคารพนับถือก็เกิดกุศลจิตทำตามบ้าง ต่อมาชาวบ้านที่ตั้งใจจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่ไม่พบ พอทราบเหตุก็ต่างพากันตำหนิติเตียนและไม่ทำบุญกับพระภิกษุเหล่านั้น พระภิกษุเหล่านั้นจึงเกิดความสำนึกผิดและไปทูลเชิญพระพุทธองค์เสด็จกลับมา จากเหตุการณ์นี้ทำให้พุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจถึงการแตกความสามัคคีและการทะเลาะวิวาทนั่นเองค่ะ

    พระพุทธรูปปางสมาธิ–พระพุทธรูปประจำวันพฤหัสบดี

  5. พระพุทธรูปประจำวันเกิด: วันพฤหัสบดี

    พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันพฤหัสบดีคือ “พระพุทธรูปปางสมาธิ” หรือเรียกอีกอย่างว่า “พระพุทธรูปปางตรัสรู้” ค่ะ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางซ้อนกันอยู่บนพระเพลา โดยพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย และพระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย ซึ่งพระพุทธรูปปางสมาธินี้มาจากเมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะหรือพระโพธิสัตว์ประทับในท่าขัดสมาธิใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ใกล้กับฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อตั้งพระทัยเจริญสมาธิในญาณขั้นต่าง ๆ จนได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณและตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หรือวันวิสาขบูชานั่นเองค่ะ

    พระพุทธรูปปางรำพึง–พระพุทธรูปประจำวันศุกร์

  6. พระพุทธรูปประจำวันเกิด: วันศุกร์

    พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันศุกร์คือ “พระพุทธรูปปางรำพึง” ค่ะ ซึ่งมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางประสานกันที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาวางทับพระหัตถ์ซ้าย โดยมีที่มาจากภายหลังการตรัสรู้ได้ไม่นาน ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไทรก็ทรงรำพึงพิจารณาถึงธรรมที่ทรงได้ตรัสรู้ว่าเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งและยากเกินกว่ามนุษย์จะเข้าใจได้ จึงทรงเกิดความท้อพระทัยและคิดที่จะไม่สั่งสอนชาวโลกแล้ว เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมทรงทราบก็เกิดความร้อนใจและได้มากราบทูลอาราธนาเพื่อทรงแสดงธรรมว่าในโลกนี้ยังมีบุคคลที่มีกิเลสเบาบาง พอฟังธรรมได้อยู่ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงคิดพิจารณาแล้วก็เห็นชอบด้วย จึงได้ทรงประกาศพระธรรมคำสั่งสอนและพระพุทธศาสนาต่อไปจนกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพาน ด้วยเหตุนี้เองทำให้พุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นและเรียกว่า “ปางรำพึง” ค่ะ

    พระพุทธรูปปางนาคปรก–พระพุทธรูปประจำวันเสาร์

  7. พระพุทธรูปประจำวันเกิด: วันเสาร์

    พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์คือ “พระพุทธรูปปางนาคปรก” ค่ะ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองข้างวางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) โดยพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายเช่นเดียวกับพระพุทธรูปปางสมาธิ แต่ว่ามีพญานาคราชขดร่างเป็นวงกลมซ้อนทับกันไปเรื่อย ๆ จนเป็นพุทธบัลลังก์และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร ซึ่งมีที่มาจากเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้และประทับบำเพ็ญสมาบัติเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นจิก ขณะนั้นเองฝนตกลงมาไม่หยุด ได้มีพญานาคราชตนหนึ่งชื่อว่า “มุจลินท์นาคราช” ขึ้นมาแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการขนดร่างเป็นวงกลม 7 รอบแล้วแผ่พังพานปกคลุมพระพุทธเจ้าไว้คล้ายกับพระเศวตฉัตรไม่ให้ลมและฝนตกลงมาต้องพระวรกาย รวมไปถึงป้องกันสัตว์ร้ายต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามากล้ำกรายอีกด้วย และเมื่อฝนหยุดตกจึงได้แปลงร่างเป็นมาณพ เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ค่ะ

หลังจากที่หรีดมาลาได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและลักษณะของพระพุทธรูปประจำวันเกิดให้เพื่อน ๆ ทราบกันไปแล้ว หากมีเวลาว่าง เพื่อน ๆ ก็อย่าลืมแวะไปทำบุญไหว้พระกันด้วยนะคะ เพื่อให้ชีวิตมีแต่ความเป็นสิริมงคลค่ะ


ร้านพวงหรีดออนไลน์ หรีดมาลา สั่งพวงหรีด คลิก! ส่งฟรี! พื้นที่กรุงเทพ


เครดิตภาพ:
https://th.m.wikipedia.org/
https://mapio.net/
https://laddawan06510091blog.wordpress.com/
https://www.facebook.com/WatRatchaorotsaram/
https://www.facebook.com/วัดถนน-สุทธาราม-771649622859997/

Banner