หรีดมาลาสั่งซื้อ ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
หรีดมาลา
หรีดมาลา
หรีดมาลา

มารยาทในการเข้าวัดไทยที่คุณต้องรู้

เที่ยวชมวัดไทยเจดีย์สวยงาม
ก่อนออกเดินทางไปเยี่ยมชมวัดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เราควรศึกษาและเรียนรู้มารยาทในการเที่ยวชมวัดไทยเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามให้ดีเสียก่อน เพื่อจะได้ประพฤติหรือปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามกาลเทศะ ซึ่งมารยาทที่ว่านี้อาจมีบางข้อที่คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยทราบและมองข้ามไป วันนี้หรีดมาลาได้รวบรวมมาให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันอย่างละเอียดเลยค่ะ
การแต่งกายเที่ยวชมวัดไทย

มารยาทในการเข้าวัดไทยเกี่ยวกับการแต่งกาย

1. แต่งกายสุภาพเรียบร้อย

แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย และถูกต้องเหมาะสมตามกาลเทศะ เพื่อเป็นการให้เกียรติและแสดงความเคารพต่อสถานที่

2. แต่งกายด้วยเสื้อผ้าโทนอ่อนเรียบๆ

แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาว หรือสีโทนอ่อน ๆ เรียบ ๆ ไม่มีลวดลายหรือสีที่ฉูดฉาด

3. แต่งกายให้มิดชิด

เมื่อเข้าชมพระอุโบสถ หรือส่วนต่าง ๆ ภายในวัด ควรแต่งกายให้มิดชิด ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าแบบซีทรู โปร่งบาง สีขาวบางจนเห็นเสื้อชั้นในชัดเจน เสื้อสีเนื้อหรือสีครีม คอไม่เว้าลึก และเสื้อผ้าไม่หลวมหรือรัดรูปมากจนเกินไป เพื่อสะดวกในการกราบไหว้พระและนั่งสมาธิ แต่ถ้าจะให้ดี ควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หรือกระโปรงคลุมเข่า

4. แต่งเสื้อผ้าที่ไม่ดูหรูหราจนเกินไป

ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่หรูหราจนเกินไป รวมไปถึงเครื่องประดับที่มีราคาแพง เช่น แหวนเพชร ต่างหู กำไลข้อมือ นาฬิกาเรือนทอง สร้อยคอทองคำต่าง ๆ

5. หลีกเลี่ยงการฉีดน้ำหอม

เนื่องจากกลิ่นน้ำหอมอาจทำให้รบกวนผู้อื่น หากต้องการฉีดน้ำหอมจริง ๆ ควรใช้น้ำหอมที่มีกลิ่นอ่อนที่สุดจะดีกว่า

6. สำหรับผู้หญิงควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางหรือแต่งหน้าจัดจนเกินงาม

ไม่ว่าจะเป็นการเขียนคิ้ว ทาปาก หรือทาเล็บที่เข้มจนเกินไป หากต้องการแต่งหน้าจริง ๆ ควรแต่งหน้าแบบอ่อน ๆ หรือแบบเป็นธรรมชาติจะดีกว่าค่ะ

7. สำหรับผู้หญิง ควรหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่เปิดเผยร่างกาย

ควรเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่เปิดเผยร่างกาย หรือเนื้อหนังมังสา หรือแบบวับ ๆ แวม ๆ มากจนเกินไป โดยเฉพาะบริเวณหน้าอก, ไหล่ และหัวเข่า ซึ่งเสื้อผ้าที่ไม่ควรใส่เข้าวัด ได้แก่ เสื้อสายเดี่ยว, เสื้อเอวลอย, เสื้อแขนกุด, เกาะอก, เสื้อครอป, กางเกงขาสั้นเหนือเข่ามากจนเกินไป, กระโปรงสั้นเหนือเข่ามากจนเกินไป, กระโปรงแบบผ่าหน้าผ่าหลัง, กางเกงแบบผ้าขาด ๆ

8. ซื้อหรือเช่าชุดโสร่ง

หากต้องการแวะเยี่ยมชมโดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า แต่ว่าแต่งกายไม่สุภาพ ก็สามารถซื้อหรือเช่าชุดโสร่ง เพื่อใช้คลุมก่อนเข้าชมวัดได้ค่ะ

9. สำหรับผู้ชาย ควรตัดผมให้สั้น

ผู้ชายควรตัดผมสั้น หรือหากผมยาวควรหวีผมให้เรียบร้อย หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหรือเจลใส่ผม เนื่องจากกลิ่นของเจลหรือน้ำมันใส่ผมอาจทำให้รบกวนผู้อื่นได้

10. ไม่ปล่อยชายเสื้อออกนอกกระโปรงหรือกางเกง

มารยาทในการเที่ยวชมวัดไทยที่ควรปฏิบัติ - สำรวมกาย วาจา ใจ เมื่อเข้ามาภายในพระอุโบสถ

มารยาทการเข้าวัดไทยเกี่ยวกับการปฏิบัติ

1. ถอดรองเท้า

และวางไว้บนชั้นวางรองเท้าที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้ทางด้านหน้าพระอุโบสถ ก่อนเข้าไปข้างใน

2. สำรวมกาย วาจา และใจ

สำรวมกาย วาจา ใจ และระมัดระวังกิริยามารยาทให้สงบเรียบร้อย เมื่อเข้ามาภายในบริเวณวัด

3. ปิดโทรศัพท์มือถือหรือปิดเสียง

ปิดโทรศัพท์เพื่อป้องกันไม่ให้เสียงโทรศัพท์รบกวนผู้อื่นที่เข้ามาทำบุญไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือประกอบกิจกรรมทางศาสนาค่ะ แต่หากจำเป็นต้องเปิดโทรศัพท์มือถือจริง ๆ ให้ปิดเสียงหรือเปิดระบบเสียงเรียกเข้าเป็นระบบสั่นแทน

4. รักษาความเงียบสงบ

ไม่พูดคุยหรือส่งเสียงดังเอะอะโวยวาย เมื่ออยู่หน้าประตูวัดหรือเข้ามาภายในบริเวณวัด โดยเฉพาะภายในพระอุโบสถ เนื่องจากอาจมีผู้ที่กำลังสวดมนต์หรือนั่งสมาธิอยู่ หากต้องการพูดคุยจริง ๆ ให้ใช้วิธีกระซิบแทนค่ะ

5. รักษาความสะอาด

รักษาความสะอาดศาสนสถานให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ด้วยการทิ้งขยะในถังขยะให้ถูกที่

6. ทำความเคารพพระพุทธรูป

เมื่อเข้ามาภายในพระอุโบสถ ควรแสดงความเคารพพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานและพระสงฆ์อย่างสำรวมและนอบน้อม

7. ห้ามถ่ายรูปในที่ห้ามถ่าย

ถ่ายรูปในสถานที่ที่ได้รับการอนุญาตเท่านั้น หากไม่มีป้ายห้ามถ่ายรูปจึงจะสามารถถ่ายรูปได้

8. ปฏิบัติตามกฎระเบียบของวัดอย่างเคร่งครัด

9. ช่วยกันดูแลรักษา

ช่วยกันดูแลรักษาหรือบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานและโบราณวัตถุภายในวัดให้มั่นคงแข็งแรงด้วยการบริจาคเงินหรือสิ่งของซ่อมแซม

10. ถ่ายรูปกับพระพุทธรูปอย่างสำรวม

หากต้องการถ่ายรูปกับพระพุทธรูป ควรอยู่ในกิริยาที่สำรวม สงบ สุภาพเรียบร้อย และให้ความเคารพต่อพระพุทธรูป
มารยาทในการเที่ยวชมวัดไทยที่ไม่ควรปฏิบัติ - ปีนป่ายโบราณสถานภายในวัด

มารยาทห้ามปฏิบัติในการเข้าชมวัดไทย

1. ห้ามสูบบุหรี่และสารเสพติด

ห้ามสูบบุหรี่และเสพสารเสพติดทุกชนิดภายในวัด เพื่อให้เกียรติสถานที่และเคารพศาสนาพุทธของเราด้วย

2. ห้ามขีดเขียน ทำลาย หรือขโมย

ห้ามขีดเขียน ทำลาย หรือขโมยทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในวัด อย่างเช่น กำแพงฝาผนัง พระพุทธรูป โบราณวัตถุ

3. ห้ามชี้นิ้วโดยเด็ดขาด

เนื่องจากการชี้นิ้วเป็นการกระทำที่ไม่สุภาพ หากต้องการให้ผู้อื่นดูส่วนประกอบต่าง ๆ ภายในวัดให้ใช้วิธีผายมือแทน

4. ห้ามเหยียบธรณีประตู

เมื่อเข้าไปภายในพระอุโบสถหรือพระวิหาร ห้ามเหยียบธรณีประตูโดยเด็ดขาด เนื่องจากธรณีประตูเป็นขอบของพื้นประตูที่ยกสูงขึ้นมานั้นเชื่อกันว่าช่วยป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาได้ นอกจากนี้ยังเป็นที่สิงสถิตของทวารบาลหรือผู้รักษาประตูอีกด้วย

5. ห้ามถ่ายรูปผู้อื่นที่กำลังทำกิจกรรมทางศาสนา

ห้ามถ่ายรูปผู้อื่นที่กำลังทำบุญไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือประกอบกิจกรรมทางศาสนา เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุญาตและเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น

6. ห้ามถ่ายรูปตนเองหรือเซลฟี่กับองค์พระพุทธรูป

เนื่องจากเป็นการลบหลู่หรือไม่ให้ความเคารพที่ยืนอยู่ในระดับความสูงเดียวกับพระพุทธรูป อีกทั้งอาจผิดกฎหมายด้วยค่ะ

7. ห้ามนั่งและปีนป่ายโบราณสถานภายในวัด

เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความชำรุดเสียหายแก่โบราณสถานนั้น ๆ

8. ห้ามนั่งด้วยการเอาเท้าชี้ไปทางพระ

เมื่ออยู่ในพระอุโบสถ ห้ามนั่งด้วยการเอาเท้าชี้ไปทางพระพุทธรูปและพระสงฆ์ แต่ควรนั่งงอเข่าโดยให้เท้าชี้ไปทางด้านหลัง หรือนั่งขัดสมาธิโดยไม่ให้เท้าชี้ไปทางพระหรือผู้อื่น

9. ห้ามยืนขึ้นขณะถ่ายภาพ

ห้ามยืนขึ้นตอนถ่ายภาพและห้ามถ่ายภาพในบริเวณที่ห้ามถ่ายรูป

10. ห้ามแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

ห้ามแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ภายในบริเวณวัด โดยเฉพาะการแสดงความรักจนเกินงามหรือสื่อไปทางลามกอนาจาร

11. ห้ามนำสิ่งที่ไม่เหมาะสมเข้ามาภายในวัด

ห้ามนำอุปกรณ์การพนัน สารเสพติด สุรา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดเข้ามาภายในบริเวณวัด

12. ห้ามฆ่าสัตว์

ห้ามฆ่าสัตว์ ยิงนกตกปลา หรือก่อเหตุทะเลาะวิวาทเด็ดขาด เนื่องจากวัดเป็นเขตอภัยทาน

เมื่อทราบถึงมารยาทในการเที่ยวชมวัดไทยทั้งข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามแล้วอย่าลืมปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดกันด้วยนะคะทุกคน

เครดิตภาพ:
https://www.pixabay.com/

Banner