หรีดมาลาสั่งซื้อ ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
หรีดมาลา
หรีดมาลา
หรีดมาลา

วัดที่ได้รับรางวัล Award of Excellence อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

สวัสดีค่าทุกคน พรุ่งนี้ก็เป็นวันหยุดแล้ว หรีดมาลาจะพาทุกคนไปเที่ยว “วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร” เชิงสะพานพุทธยอดฟ้ากันค่ะ หากใครนั่งรถผ่านก็คงจะสังเกตเห็นวัดแห่งนี้ แต่ก่อนจะไปเที่ยวในวันพรุ่งนี้ วันนี้หรีดมาลาจะเล่าประวัติเกี่ยวกับ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร อย่างละเอียดกันก่อนค่ะ

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหารจัดได้ว่าเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร และเป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2371 ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือ “สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่” ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลังว่าที่กรมท่าสมุหกลาโหมได้บริจาคที่ดินที่เป็นสวนกาแฟเดิม โดยใช้เวลาในการสร้างเป็นเวลาถึง 8 ปี จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2479 และได้มีการจัดงานฉลองขึ้นในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2479 ในระหว่างที่ทำการสร้างนั้น วัดแห่งนี้ได้รับการถวายให้เป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2475 และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานนามว่า “วัดประยุรวงศาวาส” แต่ชาวบ้านในบริเวณวัดแห่งนี้มักเรียกกันว่า “วัดรั้วเหล็ก” เนื่องจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ได้สั่งรั้วเหล็กมาจากอังกฤษ เพื่อนำมาน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ในการสร้างกำแพงพระราชวัง แต่พระองค์ไม่ทรงโปรด จึงขอรับพระราชทานมาใช้ล้อมเป็นกำแพงวัดแทน รั้วเหล็กที่ว่านี้ทำเป็นรูปอาวุธ เช่น หอก ดาบ และขวาน ต่อมาเมื่อวัดประยุรวงศาวาสเริ่มทรุดโทรมลง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค), เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค), เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค), และเจ้าพระยา
สุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) จึงได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ใหม่

ภายในวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารมีสถาปัตยกรรมและสิ่งสำคัญที่น่าสนใจต่างๆ ได้แก่…

วัดประยุรวงศาวาส-01

Credit by: Facebook วัดประยุรวงศาวาส

พระบรมธาตุมหาเจดีย์ มีลักษณะเป็นเจดีย์สีขาวทรงกลมขนาดใหญ่ สัณฐานรูปทรงระฆังคว่ำหรือโอคว่ำ ฐานล่างส่วนนอกวัดโดยรอบได้ 162 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เมตร สูง 60.525 เมตร ถือว่าเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์เลยก็ว่าได้ค่ะ ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เป็นผู้ริเริ่มให้สร้างขึ้น แต่ไม่ทันได้สร้างเสร็จก็ถึงแก่พิราลัยไปก่อน ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ก็ได้สร้างพระเจดีย์ต่อจนเสร็จสมบูรณ์ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีลักษณะเป็นพระเจดีย์ทรงระฆังโดยสร้างเสาแกนกลางเพื่อเป็นหลักในการสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่ และมีช่องคูหาเรียงรายล้อมรอบชั้นล่างด้านในพระเจดีย์ 54 คูหา และด้านนอกอีก 55 คูหา ส่วนชั้นบนถัดจากช่องคูหาขึ้นไปมีพระเจดีย์เล็ก 18 องค์เรียงรายโดยรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและบรรจุอัฐิของตระกูลบุนนาค

ในปี พ.ศ. 2414 พระเจดีย์องค์ใหญ่ถูกฟ้าผ่าจนยอดพระเจดีย์หักลงมา ไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นเวลานาน 47 ปีทีเดียว จนกระทั่งในปี พ.ศ.2461 พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อยู่ อุตฺตรภทฺโท) เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้นได้บูรณปฏิสังขรณ์ยอดพระเจดีย์ใหม่ขึ้นดังเดิม ในระหว่างนั้นเอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 พระปรากรมมุนี (เปลี่ยน) เจ้าอาวาสวัดรูปที่ 10 ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์เล็กรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ และซ่อมกำแพงรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ หลังจากบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จก็ได้จัดงานฉลองพระเจดีย์และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานไว้บนพระเจดีย์องค์ใหญ่ ในโอกาสนี้ พระสมุห์ปุ่น หรือ พระครูสาราณิยคุณ ได้จารึกข้อความลงในกระดานชนวนวางไว้ห้องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ปี พ.ศ. 2549 ก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ครั้งที่ใหญ่ที่สุดโดยพระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดในปัจจุบัน และ ได้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุและพระกรุจำนวนมากบนองค์พระเจดีย์ใหญ่ในปี พ.ศ. 2550 ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เนื่องในโอกาสสมโภชวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร 180 ปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนองค์พระเจดีย์ใหญ่ ในปี พ.ศ. 2553 พระบรมธาตุมหาเจดีย์ของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์และได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภท “ปูชนียสถานและวัดวาอาราม” ด้านการอนุรักษ์งานมรดกศิลปะสถาปัตยกรรมประจำปี 2553 โดยเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในปี พ.ศ. 2556 นี้เอง พระบรมธาตุมหาเจดีย์แห่งนี้ก็ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 หรือ Award of Excellence ในระดับนานาชาติจากองค์การยูเนสโก ในโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกประจำปี พ.ศ. 2556 ซึ่งพระบรมธาตุมหาเจดีย์แห่งนี้นับได้ว่าเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าและสำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นพระเจดีย์แบบมีแกนกลางเพียงหนึ่งเดียวในโลกที่เหลืออยู่ค่ะ

วัดประยุรวงศาวาส-02

Credit by: https://www.watprayoon.com

พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของรั้วเหล็ก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทย กว้างประมาณ 18 เมตร ยาวประมาณ 25 เมตร หน้าบันเป็นลายดอกพุดตานที่มีความสวยงามมาก หลังคาลดสองชั้นมุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ด้านหน้าและด้านหลังของพระอุโบสถมีประตูเข้าออกทั้งสองทาง ตรงกลางระหว่างประตูทั้ง 2 ข้างมีหน้าต่างแปดเหลี่ยม ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน “พระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา” โดยด้านหลังพระประธานมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังรอบพระอุโบสถเดิมทีเป็นภาพชาดก แต่ต่อมาได้ถูกทำลายลงเมื่อหลังคาอุโบสถถูกสะเก็ดระเบิดจากเหตุการณ์ที่มีการทิ้งระเบิดลงสะพานพุทธยอดฟ้าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระอุโบสถแห่งนี้ก็ได้รับการซ่อมแซมเป็นครั้งแรกตามพระราชดำรัสแนะนำของพระองค์ เมื่อครั้งที่เสด็จฯ มาพระราชทานผ้าพระกฐินที่วัดประยุรวงศาวาส

วัดประยุรวงศาวาส-02

Credit by: https://www.watprayoon.com

พระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา เป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีพุทธลักษณะที่งดงาม ขนาดหน้าตัก 2 เมตร ไหล่กว้าง 25 เมตร สูง 1.625 เมตร ในปี พ.ศ.2471 ในเวลาไล่เลี่ยกับการสร้างพระอุโบสถ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ก็ได้ทำพิธีหล่อพระ ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระหล่อลงรักปิดทอง โดยการหล่อพระจะใช้นายช่างคนไทย และการลงรักปิดทองจะอาศัยนายช่างญี่ปุ่นฝีมือเยี่ยม นับได้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่ลงรักปิดทองโดยนายช่างชาวต่างชาติ ต่อมาในปี พ.ศ.2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อของพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา” ที่แปลว่า “พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระศาสดาประเสริฐสุดโดยธรรม” เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่วัด

วัดประยุรวงศาวาส-02

Credit by: https://www.crownproperty.or.th

พระวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทย กว้างประมาณ 17 เมตร ยาว 20 เมตร เป็นวิหารขนาด 5 ห้อง หลังคาลดสองชั้นมุงด้วยกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา และนาคเบือน หน้าบันสลักลวดลายดอกไม้สวยงาม ปิดทองประดับกระจกสีอย่างแพรวพราว มีซุ้มประตู 4 ซุ้ม และซุ้มหน้าต่าง โดยเฉพาะบานประตูประดับมุกอย่างสวยงาม ผนังด้านในทาสีขาว ภายในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน  “พระพุทธนาคน้อย” หรือ “หลวงพ่อนาค” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ในปี พ.ศ. 2492 พระวิหารแห่งนี้และพระพุทธนาคได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นศิลปะโบราณวัตถุของชาติและของพระศาสนาจากกรมศิลปากรเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ต่อมาในปี พ.ศ.2550 ทางวัดได้มีการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ค้นพบบนองค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ และอัญเชิญมาไว้พระวิหารแห่งนี้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา

พระพุทธนาคน้อย

Credit by: https://sihawatchara.blogspot.com

พระพุทธนาคน้อย เป็นพระประธานในพระวิหาร มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปโบราณปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 25 เมตร ไหล่กว้าง 2.8 เมตร สูง 5.7 เมตร ซึ่งอัญเชิญมาจากจังหวัดสุโขทัยเมื่อปี พ.ศ. 2374 ส่วนมากมักนิยมเรียกกันว่า “หลวงพ่อพระพุทธนาค” หรือ “หลวงพ่อนาค” แต่ในบางครั้งชาวบ้านมักเรียกพระพุทธรูปองค์นี้กันว่า “พระพุทธนาคน้อย” เนื่องจากพระพุทธรูปองค์นี้เป็นคู่กับพระศรีศากยมุนีที่เรียกกันว่า “พระพุทธนาคใหญ่” ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม ส่วนชาวจีนเรียกว่า “ลักน้อย” ที่หมายถึง กลีบบัว 6 ชั้น ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝูงบินได้ทำการทิ้งระเบิดลงสะพานพุทธ โดยระเบิดได้ตกลงมาใกล้พระวิหารที่ประดิษฐานของพระพุทธนาค ทำให้พระวิหารเสียหายเล็กน้อยแต่ทว่าพระพุทธนาคไม่มีรอยขีดข่วนของสะเก็ดระเบิดเลยแม้แต่น้อย เป็นที่น่ามหัศจรรย์ยิ่งนัก

พรินทรปริยัติธรรมศาลา

Credit by: https://www.watprayoon.com

พิพิธภัณฑ์พระประยูรภัณฑาคาร หรือพรินทรปริยัติธรรมศาลา ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นพระบรมธาตุมหาเจดีย์ เป็นอาคารปูนชั้นเดียวที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมทรงยุโรป เหนือขอบประตูหน้าต่างประดับกระจกสีสวยงาม จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ โดยเฉพาะพระพุทธรูปและพระเครื่องต่างๆ ที่ค้นพบจากกรุบนพระบรมธาตุมหาเจดีย์ รวมไปถึงพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา แต่เดิมที่นี่เคยใช้เป็นที่ศึกษาพระปริยธรรมของพระภิกษุสามเณร ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้พรินทรปริยัติธรรมศาลาเป็นห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชนในวัดที่อยู่ในการกำกับดูแลของโรงเรียนหนังสือไทย พรินทรปริยัติธรรมศาลาจึงเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในประเทศไทย อีกทั้งในปี พ.ศ. 2492 อาคารหลังนี้ยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นศิลปโบราณสถานวัตถุของชาติจากกรมศิลปากรอีกด้วย จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงความรู้เกี่ยวกับสิ่งของโบราณจนถึงปัจจุบัน

อุทยานเขามอ-01

Credit by: https://www.thaihrhub.com

อุทยานเขามอ-02

Credit by: https://www.thaihrhub.com

อุทยานเขามอ (เขาเต่า) ตั้งอยู่ด้านหน้าวัด เป็นภูเขาหินจำลองขนาดใหญ่ที่อยู่กลางสระน้ำ ซึ่งภูเขาที่ว่านี้มีลักษณะยอดเขาที่ลดหลั่นกันไปตามลำดับ โดยมีชะง่อนผาที่คล้ายคลึงกับหยดน้ำตาเทียน หรือหยดเทียนขี้ผึ้ง และมีถ้ำที่ประดิษฐานพระนอนอยู่ที่เชิงเขา และบนยอดเขาเป็นที่ประดิษฐานของโบสถ์และเจดีย์ขนาดเล็กอยู่บนสุด ส่วนภายในบริเวณถ้ำมอนั้นประดับด้วยต้นไม้ประเภทพันธุ์ไม้หายากและตุ๊กตาจีน นอกจากนั้นยังมีสิ่งก่อสร้างสำคัญอีกมากมาย เช่น อนุสาวรีย์ปืนสามกระบอกเป็นอนุสาวรีย์ที่มีปืนใหญ่ปักคว่ำอยู่สามกระบอก ซึ่งเจ้าพระยาภาสกรวงศ์สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปืนใหญ่ที่นำมาทำไฟพะเนียงแตกในงานฉลองสมโภชอาราม, พระมณฑปทรงโกธิคเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อแขก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะแบบอินเดีย คือ เป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทคล้ายพระพุทธรูปปางคันธาระในอินเดีย, เป็นที่ประดิษฐานพระสถูปเจดีย์ พระพุทธปรางค์ พระวิหารหลวงจำลอง สังเวชนียสถานจำลอง และศาลาต่างๆ โดยเฉพาะศาลาสุวพักตร์วิไลยพรรณ หรือศาลาฝรั่งที่สร้างแบบตะวันตก เสาและคานเป็นแบบดอริก ประดับลายแบบเรอเนสซองส์ รวมไปถึงสุสานที่บรรจุอัฐิชนทั่วไป มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทยและแบบฝรั่ง เป็นต้น

พระเจดีย์ท่านขรัวแก้ว

Credit by: https://www.crownproperty.or.th

พระเจดีย์ท่านขรัวแก้ว เจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2439 ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ สูง 6 เมตร มีกำแพงล้อมรอบ โดยสร้างกุฏิไว้ด้านหน้าแล้วหล่อรูปหลวงพ่อแก้วหรือท่านขรัวแก้วประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นภาพบรรยายการสนทนาธรรมระหว่างท่านขรัวแก้วกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์อยู่ที่ด้านหลังของรูปท่านขรัวแก้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 ทางวัดได้สร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบพระเจดีย์องค์เก่า และสร้างศาลาจัตุรมุขไว้ด้านหน้าพระเจดีย์ ส่วนเพดานของศาลามีลวดลายรูปดอกบุนนาค และรูปดาวระยิบระยับที่เป็นสัญลักษณ์ของต้นตระกูลบุนนาค

อ่างน้ำโบราณ บริเวณโดยรอบด้านในของพระบรมธาตุมหาเจดีย์มีอ่างน้ำโบราณที่มีขนาดใหญ่มาก โดยขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางนั้นประมาณ 95 เซนติเมตร สูง 75 เซนติเมตร ส่วนรูปลักษณ์ของอ่างน้ำโบราณนั้นจะเป็นรูปร่างที่แตกต่างกัน เช่น ทรงกลม ทรงแปดเหลี่ยม รูปมังกร รูปต้นไม้ รูปต้นไผ่ รูปดอกไม้ รูปกิเลน และรูปสัตว์ต่างๆ ที่มีอายุกว่าร้อยปี เป็นต้น ซึ่งอ่างน้ำโบราณจะมีจำนวนอยู่ทั้งสิ้น 26 ใบ สันนิษฐานว่าอ่างน้ำโบราณนี้นำเข้าจากประเทศจีนในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขณะที่พระองค์ทรงทำการค้าขายกับจีน

สิงโตจีน สิงโตจีนของวัดประยุรวงศาวาสเป็นสิงโตหินที่นำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งจะมีความสวยงามและมีความแปลกตา แตกต่างจากสถานที่อื่นๆ เช่น ลูกสิงโตกำลังกินนมแม่, ลูกสิงโตหยอกล้อแม่ และลูกสิงโตอมสร้อยคอแม่ เป็นต้น

หอภาวนาสิทธิโชค

Credit by: https://www.crownproperty.or.th

หอภาวนาสิทธิโชค สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย มีขนาดกว้าง 6.43 เมตร ยาว 10.75 เมตร หลังคาลด 2 ชั้น หน้าบันเป็นรูปเทพนม ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ทางวัดได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ให้มีขนาดกว้าง 62 เมตร ยาว 14.80 เมตร และมีหลังคาลด 2 ชั้น ซึ่งหอภาวนาสิทธิโชคนี้เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อของอดีตเจ้าอาวาสและบุรพาจารย์ เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่ อินฺทสโร) เจ้าอาวาสวัดรูปที่ 3, พระพุทธวรญาณ (มงคล วิโรจโน) เจ้าอาวาสวัดรูปที่ 13

วิหารคด ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถ และเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จำนวนทั้งสิ้น 32 องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปปางห้ามญาติ 20 องค์ ปางประทานพร 9 องค์ ปางถวายเนตร 2 องค์ และปางอุ้มบาตร 1 องค์ ซึ่งพระพุทธรูปทั้ง 32 องค์นี้จะเป็นพระพุทธรูปยืนทั้งหมด โดยมีความสูงระหว่าง 1.26 เมตร จนถึง 2.60 เมตร

หลังจากทุกคนได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาและสิ่งที่น่าสนใจของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารกันไปแล้ว พรุ่งนี้หรีดมาลาจะพาทุกคนไปเที่ยวชมสถานที่จริงของวัดแห่งนี้กันค่ะ แต่ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน หรีดมาลาจะขอให้ทุกคนเตรียมกล้องถ่ายรูปหรือโทรศัพท์ที่มีกล้องถ่ายรูปมาถ่ายรูปสวยๆ ภายในวัดด้วยนะคะ…สวัสดีค่ะ

 

Banner