หรีดมาลาสั่งซื้อ ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
หรีดมาลา
หรีดมาลา
หรีดมาลา

เรียนรู้ “พิธีกงเต๊ก” พิธีงานศพของชาวจีน

หากใครได้ชมละครเรื่อง “เลือดข้นคนจาง” ที่กำลังออกอากาศและเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้ ก็คงจะสังเกตเห็นฉากพิธีกงเต๊ก ซึ่งเป็นพิธีงานศพของคนจีนที่ปรากฏอยู่ในงานศพของอากง ผู้นำตระกูลจิระอนันต์ รวมอยู่ด้วย ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าพิธีกงเต๊กมีประวัติความเป็นมาอย่างไร และมีขั้นตอนในการทำพิธีกงเต๊กอย่างไรกันบ้าง วันนี้หรีดมาลาจะมาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีที่ว่านี้อย่างคร่าวๆ กันค่ะ

 

เครดิตภาพ: http://www.tekkacheemukkhor.com/Festival_kongTek.php

พิธีกงเต๊กเป็นพิธีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับในพิธีศพของชาวจีน เพื่อส่งดวงวิญญาณงไปสู่สรวงสวรรค์ ถือได้ว่าเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณอันเก่าแก่ของชาวจีนที่มีการสืบทอดและปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานนับพันปีค่ะ ซึ่งพิธีกงเต๊กนี้มีรากฐานมาจาก 3 ความเชื่อด้วยกัน ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาเต๋า และลัทธิขงจื๊อค่ะ โดยการจัดพิธีกงเต๊กนี้อาจเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เนื่องจากผู้ที่จะรับพิธีกงเต๊กได้นั้นต้องมีอายุ 70 ปีขึ้นไป เสียชีวิตตามธรรมชาติหรือด้วยโรคภัยไข้เจ็บ และแต่งงานมีลูกหลานแล้วเท่านั้น แต่หากเสียชีวิตก่อนวัยอันควร คืออายุต่ำกว่า 70 ปี และเสียชีวิตแบบไม่ปกติอันเกิดจากอุบัติเหตุ ถูกฆาตกรรม หรือฆ่าตัวตาย จะไม่มีการจัดพิธีกงเต๊กค่ะ การจัดพิธีกงเต๊กส่วนมากจะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาเป็นผู้ประกอบพิธี หรือจะจ้างบุคคลธรรมดาที่รับจ้างทำพิธีก็ได้ค่ะ สำหรับพระสงฆ์ที่ประกอบพิธีกงเต๊กในประเทศไทยเป็นคณะสงฆ์นิกายมหายานมีเพียง 2 คณะเท่านั้นก็คือ คณะสงฆ์นิกายจีน (พระจีน) กับคณะสงฆ์อนัมนิกาย (พระญวน) ค่ะ

โดยทั่วไปแล้ว พิธีกงเต๊กจะจัดขึ้นในวันที่ 6 หลังจากสวดอภิธรรมศพตามพิธีของชาวพุทธ ซึ่งจะเริ่มทำพิธีกงเต๊กตั้งแต่ช่วงเช้าประมาณ 9 โมงเช้า ไปจนถึงเวลากลางคืน ซึ่งลูกหลานที่เข้าร่วมพิธีกงเต๊กนั้นจะแต่งกายไว้ทุกข์ คือ ลูกชายและลูกสาวของผู้วายชนม์ รวมไปถึงตั่วซุง (หลานชายคนแรกที่เกิดจากลูกชายคนโต จะถือว่าเป็นลูกคนสุดท้ายของผู้วายชนม์ด้วย) จะสวมชุดผ้าดิบไว้ข้างในและทับด้วยชุดกระสอบอีกที ส่วนญาติพี่น้องและหลานคนอื่นๆ จะแต่งกายด้วยผ้าดิบ สำหรับขั้นตอนของพิธีกงเต๊กนั้นมีลำดับขั้นตอน ดังนี้คือ
1. พระจีนเริ่มสวดเปิดมณฑลพิธี โดยอัญเชิญพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และเทพยดาฟ้าดินทั้งหลายมาสถิตเป็นสักขีพยานในการประกอบพิธี เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์และสิริมงคล
2. ส่งสารไปยมโลกด้วยม้าและนกกงเต๊ก โดยแจ้งข่าวการเสียชีวิตไปยังสวรรค์และปรโลก เพื่อบอกกล่าวขอเปิดทางให้ดวงวิญญาณเดินทางได้อย่างสะดวก
3. เชิญวิญญาณของผู้ล่วงลับมาร่วมพิธีชำระดวงวิญญาณ คือมีการนำห้องน้ำกงเต๊กมาวาง ซึ่งภายในห้องน้ำประกอบด้วยอ่างขาวใส่น้ำสะอาด และผ้าขนหนูสีขาว โดยขั้นแรก พระสงฆ์จะสวดเจริญพระพุทธมนต์เชิญดวงวิญญาณมาร่วมในพิธี และยกโคมวิญญาณมาให้พระท่านถือไว้ย้ายมาตั้งทางด้านหน้า เพื่อสวดเชิญดวงวิญญาณมาสถิตที่โคมวิญญาณที่แขวนเสื้อของผู้เสียชีวิตไว้ โดยลูกชายคนโตจะเป็นผู้มาเชิญกระถางธูปและลูกชายคนรองถือโคมวิญญาณไปยังห้องน้ำ เพื่อชำระดวงวิญญาณให้สะอาดก่อนเตรียมพร้อมสำหรับฟังพระสวดและรับของที่ลูกหลานเตรียมไว้ให้ที่ปะรำพิธี จากนั้นพระจะพาเดินกลับไปยังหน้าโต๊ะผู้ตายอีกครั้งเพื่อเชิญกระถางธูปกลับเข้าที่เป็นอันเสร็จพิธี หลังเสร็จพิธีก็จะให้ลูกสะใภ้ไปยกอ่างน้ำในห้องน้ำกงเต๊กไปเททิ้งตามธรรมเนียมจีนที่ลูกสะใภ้ต้องปรนนิบัติรับใช้พ่อแม่ของสามี แต่หากไม่มีลูกสะใภ้ก็จะให้ลูกสาวไปทำหน้าที่นี้แทน ซึ่งพิธีนี้มีความหมายที่สื่อถึงการชำระอกุศลกรรมของผู้เสียชีวิตที่อาจเผลอกระทำไว้ทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ค่ะ
4. จัดพิธีไหว้บรรพบุรุษ เมื่อคนในครอบครัวเสียชีวิต ต้องจุดธูปแจ้งข่าวให้บรรพบุรุษรับทราบว่าลูกหลานของท่านถึงแก่กรรมแล้ว โดยจัดเตรียมอาหารไว้รอรับ และให้บรรพบุรุษเป็นพี่เลี้ยงในการเดินทางของดวงวิญญาณ ขั้นตอนนี้ถือเป็นการสอนให้ลูกหลานเคารพและกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษค่ะ
5. พิธีบูชาพระเจดีย์  ในพิธีนี้ พระสงฆ์จะสวดมนต์นำดวงวิญญาณผู้ล่วงลับเดินเวียนประทักษิณรอบพระเจดีย์ แต่หากผู้ล่วงลับเป็นผู้หญิงให้ใช้สระอโนดาตหรือสระบัวแทน เพื่อเป็นการแสดงความเคารพบูชาพระเจดีย์และพระพุทธองค์ ซึ่งพระเจดีย์ในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นสังเวชนียสถาน หรือเป็นตัวแทนของพระบรมศาสดาเช่นเดียวกับพระพุทธ เราควรจึงกราบไหว้เคารพบูชา โดยความหมายของพิธีบูชาพระเจดีย์นี้คือ เป็นเครื่องเตือนใจให้พุทธศาสนิกชนระลึกถึงคุณงามความดีหรือพระคุณของพระรัตนตรัยและพระศาสดา เพื่อเจริญรอยตามพระพุทธองค์ค่ะ

เครดิตลิงก์: https://www.youtube.com/watch?v=BXU2_x9ViH4

 

  1. พิธีการเดินข้ามสะพานกงเต๊ก เป็นการที่พระสงฆ์จีนพาดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับมาส่งยังเขตแดนสวรรค์ โดยมีลูกหลานมาส่งค่ะ และเมื่อส่งดวงวิญญาณเสร็จก็ต้องเดินกลับค่ะ โดยทุกครั้งที่ข้ามสะพาน ลูกหลานทุกคนจะต้องโยนเหรียญสตางค์ลงในอ่างน้ำ ถือเป็นการสอนลูกหลานไปในตัวว่าเราไม่สามารถนำชื่อเสียง หรือทรัพย์สินเงินทองไปด้วยได้ และสิ่งที่ควรระวังมากที่สุดของพิธีนี้ก็คือ หากลูกหลานที่เป็นผู้หญิงคนไหนมีประจำเดือนห้ามข้ามสะพานเด็ดขาด แต่ให้เดินอ้อมสะพานแทนค่ะ ส่วนการเรียงลำดับในการเดินข้ามสะพานนั้นจะเริ่มจากลูกชายคนโตเป็นหัวขบวนและเป็นคนถือกระถางธูป ส่วนลูกชายคนรองจะถือโคมวิญญาณ และลูกชายคนเล็กจะถือรูปค่ะ จากนั้นตามด้วยลูกสะใภ้ และลูกสาว แล้วตามด้วยหลานใน (ลูกของลูกชาย) และหลานนอก (ลูกของลูกสาว) โดยเรียงตามลำดับอายุค่ะ แต่หากในพิธีมีตั่วซุง ก็จะได้เดินตามลูกชายคนเล็กค่ะ เพราะถือว่ามีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากันเหมือนเป็นฝาแฝดค่ะ
    7. สวดส่งเทพ ส่งวิญญาณ และถวายเครื่องกระดาษ การถวายเครื่องกระดาษนี้จะเป็นการเผากระกระดาษเงินกระดาษทองให้แก่ผู้วายชนม์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านพร้อมที่ดิน เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เงินทอง คนรับใช้พร้อมตั้งชื่อให้ เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญู ซึ่งอาจจะเผาหลังจากทำพิธีกงเต๊กเสร็จ หรือจะเผาในวันรุ่งขึ้นไปพร้อมๆ กับการฌาปนกิจ หรือการเดินทางไปฝังที่ฮวงซุ้ยก็ได้ค่ะ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีกงเต๊ก

หลังจากที่เพื่อนๆ ได้อ่านบทความนี้แล้ว หรีดมาลาเชื่อว่าเพื่อนๆ คงจะทราบเรื่องราวและขั้นตอนความเป็นมาของพิธีกงเต๊กนี้ได้ดีขึ้นค่ะ แม้ว่าในปัจจุบัน การทำพิธีกงเต๊กจะลดน้อยลงและปรับเปลี่ยนขั้นตอนและรูปแบบไปตามยุคสมัย แต่พิธีนี้ก็ไม่มีทางสูญหายไปอย่างแน่นอนค่ะ

 


ร้านพวงหรีด “หรีดมาลา” ส่งพวงหรีด ฟรี! พื้นที่กรุงเทพ สั่งเลย!


Banner