เครดิตภาพ: https://www.pixabay.com/
แม้ว่าความเชื่อเรื่องการไหว้บูชาพระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตรจะไม่ใช่หลักปฏิบัติในหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา หากเป็นคติความเชื่อของชาวล้านนาหรือชาวไทยเหนือ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่หาโอกาสสักครั้งหนึ่งในชีวิตเพื่อเดินทางไปนมัสการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของแต่ละคนให้ได้รับอานิสงส์ผลบุญและเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง ตามหรีดมาลามาดูกันค่ะว่าพระธาตุของแต่ละปีนักษัตรอยู่ที่จังหวัดอะไรกันบ้าง
ก่อนที่จะทราบถึงพระธาตุประจำปีเกิดทั้ง 12 นักษัตร หรีดมาลาขอเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของพระธาตุประจำปีเกิดนะคะว่าพระธาตุประจำปีเกิดนั้นเป็นคติความเชื่อของชาวล้านนามาตั้งแต่โบราณค่ะ ซึ่งเชื่อกันว่าก่อนที่ดวงวิญญาณจะมาปฏิสนธิในครรภ์มารดาก็จะมีสัตว์ประจำนักษัตร หรือชาวล้านนาเรียกกันว่า “ตั๋วเปิ้ง” นำดวงวิญญาณมาพักไว้ที่พระธาตุเจดีย์ หรือเรียกกันว่า “ชุธาตุ” เมื่อถึงเวลาดวงวิญญาณจะย้ายไปสถิตอยู่ที่กระหม่อมของผู้เป็นบิดาเพียง 7 วัน จากนั้นจึงเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์มารดา และเมื่อเสียชีวิตลง ดวงวิญญาณก็จะกลับไปสถิตอยู่ที่พระธาตุเจดีย์เดิมที่เคยจากมาค่ะ
เครดิตภาพ: https://www.pxhere.com/
พระธาตุประจำปีชวดหรือปีหนูคือ “พระธาตุศรีจอมทอง” นั่นเองค่ะ ซึ่งพระธาตุศรีจอมทองนั้นตั้งอยู่ในวัดพระศรีจอมทอง ที่ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง 58 เมตรเท่านั้น สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1995 หรือราว ๆ พุทธศตวรรษที่ 20 ภายในวัดประดิษฐานพระทักษิณโมลีธาตุ หรือพระบรมธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนพระธาตุจอมทองนี้มีความพิเศษที่แตกต่างจากพระธาตุแห่งอื่นคือเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่ได้ฝังไว้ใต้ดิน แต่ประดิษฐานไว้ในกู่ภายในวิหาร ทำให้สามารถอัญเชิญไปยังโบสถ์ เพื่อให้ชาวบ้านมาสรงน้ำได้ค่ะ
เครดิตภาพ: https://www.facebook.com/watpratartlampangluang/
พระธาตุประจำปีฉลูหรือปีวัวนั้นคือ “พระธาตุลำปางหลวง” นั่นเองค่ะ ซึ่งตั้งอยู่บนเนินสูงในวัดพระธาตุลำปางหลวง ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ถือได้ว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปางเลยทีเดียว รวมไปถึงเป็นวัดไม้ที่สวยงามและเก่าแก่ แต่ก็ยังสมบูรณ์ที่สุดของไทยค่ะ ส่วนพระธาตุลำปางหลวงนั้นมีลักษณะเป็นทรงกลมแบบล้านนา บุด้วยแผ่นทองจังโก สลักลวดลายประดับอย่างงดงาม และบริเวณโดยรอบพระธาตุเป็นรั้วทองเหลือง เชื่อกันว่าพระธาตุแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางของลัมภกัปปนครที่เป็นเมืองโบราณของล้านนา และเหตุที่เป็นพระธาตุประจำปีฉลูหรือปีวัวก็เพราะเริ่มสร้างและสร้างเสร็จในปีฉลู อีกทั้งภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเกศาธาตุ, พระนลาฏ (หน้าผาก) และพระศอ (ลำคอ) ค่ะ
เครดิตภาพ: https://www.facebook.com/Watphrathatchohae/
พระธาตุประจำปีขาลหรือปีเสือคือ “พระธาตุช่อแฮ” นั่นเองค่ะ ซึ่งตั้งอยู่ในวัดพระธาตุช่อแฮ บริเวณเนินเขาเตี้ย ที่ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ถือได้ว่าวัดพระธาตุช่อแฮเป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองแพร่มานานนับพันปีทีเดียว ภายในวัดมี “องค์พระธาตุช่อแฮ” เป็นปูชนียสถานสำคัญที่สร้างด้วยอิฐโบกปูน สถาปัตยกรรมเชียงแสนทรงแปดเหลี่ยม หุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองลงรักปิดทอง ยอดฉัตรตกแต่งด้วยเครื่องบนล้านนา ส่วนภายในพระธาตุบรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมธาตุส่วนพระศอกข้างซ้าย เชื่อกันว่าหากบูชาพระธาตุช่อแฮจะได้รับอานิสงส์และทำให้เกิดบารมีในด้านความเจริญรุ่งเรือง ความร่ำรวย และความสุขค่ะ โดยในวันขึ้น 9 ค่ำ – ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ประมาณเดือนมีนาคม) ของทุกปีจะมีการจัดงานประเพณีการไหว้พระธาตุช่อแฮที่สืบทอดต่อกันมาช้านาน ทำให้พุทธศาสนิกชนและชาวปีขาลต่างเดินทางมาร่วมงานแห่ไหว้พระธาตุตามแบบล้านนากันเป็นจำนวนมากค่ะ
เครดิตภาพ: https://www.pxhere.com/
พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเถาะหรือปีกระต่ายค่ะ ซึ่งพระธาตุแห่งนี้ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุแช่แห้ง บนดอยทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ที่ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน โดยองค์พระธาตุแช่แห้งมีอายุประมาณ 600 ปี สร้างขึ้นในสมัยพระยาการเมืองโดยช่างฝีมือชาวล้านนา อีกทั้งพระธาตุแห่งนี้มีลักษณะคล้ายพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน ภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระเกศาธาตุและพระบรมธาตุข้อพระหัตถ์ข้างซ้าย ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมของทุกปีจะมี “งานประเพณีหกเป็ง” หรือ “งานนมัสการพระธาตุแช่แห้ง” ที่จัดขึ้นเพื่อให้ชาวพุทธศาสนิกชนและชาวปีเถาะมาร่วมกันทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม และประกวดการตีกลองแอลหรือการอ่านค่าวค่ะ
เครดิตภาพ: https://pantip.com/topic/36903036/
พระธาตุพระสิงห์เป็นพระธาตุประจำปีมะโรงหรือปีงูใหญ่ค่ะ ซึ่งพระธาตุแห่งนี้ตั้งอยู่ในวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร บริเวณคูเมืองเชียงใหม่ ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ค่ะ โดยวัดพระสิงห์วรมหาวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ภายในวัดมี “พระสิงห์” หรือ “พระพุทธสิหิงค์” ที่ตกแต่งแบบศิลปะเชียงแสนโบราณ ปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำ ถือได้ว่าพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองในจังหวัดเชียงใหม่เลยทีเดียวค่ะ เชื่อกันว่าผู้ที่เกิดปีมะโรงควรมากราบไหว้พระธาตุพระสิงห์ครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองตลอดชีวิตและมีอายุมั่นขวัญยืนค่ะ
เครดิตภาพ: https://tourwatthai.com/region/north/chiangmai/watjedyod/
พระเจดีย์ศรีมหาโพธิพุทธคยา อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เป็นพระธาตุประจำปีมะเส็งหรือปีงูเล็กค่ะ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแท่นวัชรอาสน์ค่ะ แต่ด้วยพระเจดีย์แห่งนี้อยู่ไกลจนเกินไปทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางไปสักการะได้ คนโบราณจึงอนุโลมให้สักการะเจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยาใน “วัดโพธารามมหาวิหาร” หรือ “วัดเจดีย์เจ็ดยอด” แทน โดยวัดโพธารามมหาวิหารนั้นตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ แต่เดิมมีชื่อว่า “วัดเจ็ดยอด” เพราะมีพระเจดีย์ด้วยกันถึง 7 องค์ ถือเป็นวัดที่สำคัญเลยทีเดียว เนื่องจากเป็นวัดที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก ภายในวัดมีองค์พระเจดีย์พุทธคยาแบบอินเดีย สร้างด้วยศิลาแลง ประดับลวดลายปูนปั้นรูปเทวดานั่งขัดสมาธิและยืนทรงเครื่องที่มีความงดงามมากค่ะ
เครดิตภาพ: https://www.facebook.com/วัดพระบรมธาตุบ้านตาก-191491827883617/
พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองเป็นพระธาตุประจำปีมะเมียหรือปีม้าค่ะ ซึ่งพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองตั้งอยู่บนเนินเขาเชียงกุตระ ในเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ (พม่า) ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพม่า โดยเจดีย์ชเวดากองมีอายุยาวนานกว่า 2,000 ปีค่ะ ลักษณะเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่หุ้มด้วยทองคำอร่ามหนักถึง 1,100 กิโลกรัม บริเวณยอดฉัตรตกแต่งด้วยอัญมณีล้ำค่ามากมาย ภายในเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุ 8 เส้น ส่วนบริเวณใกล้ ๆ มี “ลานอธิษฐาน” ที่ถือเป็นสถานที่สักการะขอพรองค์พระเจดีย์ชเวดากอง เชื่อกันว่าหากกราบไหว้จะทำให้สมหวังดั่งใจปรารถนาและช่วยให้พ้นทุกข์ทั้งปวงนั่นเองค่ะ แต่ถ้าใครไม่สะดวกในการเดินทางไกลล่ะก็สามารถเดินทางไปนมัสการที่วัดพระบรมธาตุ อำเภอบ้านตากจังหวัดตากแทนก็ได้ เนื่องจากพระครูพิทักษ์ได้จำลองแบบมาจากพระธาตุเจดีย์ชเวดากองแล้วครอบทับองค์เดิมไว้ ภายในบรรจุพระเกศาธาตุเช่นกันค่ะ
เครดิตภาพ: https://www.flickr.com/
พระบรมธาตุดอยสุเทพ นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่แล้วยังเป็นพระธาตุประจำปีมะแมหรือปีแพะอีกด้วยค่ะ ซึ่งพระธาตุแห่งนี้ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร บนยอดดอยสุเทพ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 14 กิโลเมตร ถือได้ว่าเป็นปูชนียสถานคู่เมืองเชียงใหม่มายาวนาน เนื่องจากสร้างในพุทธศตวรรษที่ 19 หรือประมาณปี พ.ศ.1962 โดยพระธาตุมีลักษณะเป็นเจดีย์ศิลปะเชียงแสน หุ้มด้วยทองจังโกสีเหลืองทอง ภายในได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ใต้ดิน เชื่อกันว่าหากสักการะบูชาพระธาตุครบทั้ง 4 ทิศ จะทำให้มีสติปัญญาดีค่ะ และในคืนก่อนวันวิสาขบูชาของทุกปีจะมีงาน “ประเพณีเตียวขึ้นดอย” หรือเข้าร่วมขบวนแห่น้ำสรงพระธาตุขึ้นดอยสุเทพเป็นระยะทางกว่า 11 กิโลเมตร และนมัสการพระธาตุ เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตค่ะ
เครดิตภาพ: https://www.pixabay.com/
พระธาตุประจำปีวอก (ปีลิง) นั้นได้แก่ “พระธาตุพนม” ค่ะ ซึ่งพระธาตุแห่งนี้ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ถือได้ว่าเป็นพระธาตุประจำปีเกิดองค์เดียวที่ตั้งอยู่ในภาคอีสานของประเทศไทย เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงเลยทีเดียวค่ะ ตามตำนานว่ากันว่าพระธาตุแห่งนี้สร้างขึ้นมาประมาณปี พ.ศ. 8 มีลักษณะเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัสสร้างด้วยอิฐสูงสง่า รูปทรงคล้ายกลีบดอกบัวตูม สลักลวดลายอย่างงดงาม ภายในพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า เชื่อกันว่าหากมานมัสการพระธาตุพนมครบ 7 ครั้งก็จะได้เป็น “ลูกพระธาตุ” และชีวิตก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นชาวปีวอกควรมาสักการะพระธาตุพนมสักครั้งหนึ่งในชีวิตค่ะ
เครดิตภาพ: https://www.pxhere.com/
พระธาตุประจำปีระกา (ปีไก่) ได้แก่ “พระธาตุหริภุญชัย” ค่ะ ซึ่งพระธาตุแห่งนี้ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย ในตำบลในเมือง อำเภอลำพูน จังหวัดลำพูน สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1420 ถือได้ว่าเป็นปูชนียสถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์อยู่คู่บ้านคู่เมืองลำพูนมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่าสร้างพระธาตุแห่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางทางศาสนาของเมืองหริภุญชัย โดยสร้างพระเจดีย์ธาตุเป็นทรงล้านนาไทยแท้หุ้มแผ่นทองสีเหลืองที่มีความงดงามมาก ภายในพระธาตุบรรจุพระบรมธาตุส่วนต่าง ๆ เช่น ส่วนกระหม่อม, ส่วนหน้าอก, นิ้วพระหัตถ์ รวมไปถึงพระเกศาธาตุในโกศทองคำ ทำให้ชาวพุทธศาสนิกชนเดินทางมากราบไหว้อย่างไม่ขาดสาย อีกทั้งในวันวิสาขบูชาของทุกปีจะมี “งานประเพณีสรงน้ำพระธาตุ” ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองสมโภชองค์พระธาตุค่ะ
เครดิตภาพ: https://thailandtourismdirectory.go.th/
จริง ๆ แล้วพระธาตุประจำปีจอ (ปีสุนัข / ปีหมา) นั้นคือ “พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี” ที่ประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่ด้วยมนุษย์อย่างเรานั้นไม่สามารถเดินทางไปถึงได้ จึงให้ผู้ที่เกิดปีจอได้เดินทางไปนมัสการที่พระธาตุอินทร์แขวน อำเภอสะเทิม รัฐมอญ ของประเทศพม่า หรือพระเจดีย์วัดเกตการามที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงบนถนนเจริญราษฎร์ในจังหวัดเชียงใหม่แทน ซึ่งเจดีย์มีขนาดใหญ่ที่สร้างตามแบบศิลปะล้านนาโบราณและตกแต่งด้วยกระจกสีอย่างสวยงาม โดยจำลองมาจากพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภายในบรรจุพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า เชื่อกันว่าหากมากราบไหว้พระธาตุแห่งนี้สักครั้งหนึ่งในชีวิตเพื่อสะสมบุญบารมี ก็จะได้ไปเกิดในยุคพระศรีอริยเมตไตรยค่ะ
เครดิตภาพ: https://www.facebook.com/watphathatdoitung/
พระธาตุประจำปีกุน (ปีหมู) คือ “พระธาตุดอยตุง” ซึ่งตั้งอยู่บนยอดดอยใน “วัดพระมหาชินธาตุเจ้า” หรืออีกชื่อว่า “วัดพระธาตุดอยตุง” ที่ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายเพียง 46 กิโลเมตรเท่านั้น ถือเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในภาคเหนือ เนื่องจากสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1454 โดยพระธาตุเจดีย์แห่งนี้มีอยู่ 2 องค์ลงรักปิดทองด้วยทองเหลืองอร่ามทั้งคู่ ภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า และพระธาตุย่อย ส่วนสาเหตุที่พระธาตุดอยตุงกลายเป็นพระธาตุประจำปีกุนก็เพราะปู่เจ้าลาวจกและพระยามังรายที่เป็นต้นราชวงศ์กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ประสูติในปีกุนนั่นเอง และในวันมาฆบูชาของทุกปีก็ได้มีการจัด “งานนมัสการและสรงน้ำพระธาตุ” เพื่อให้ผู้ที่เกิดปีกุนได้เดินทางมาสักการะองค์พระธาตุเสริมสร้างความสิริมงคลให้กับชีวิตค่ะ
เมื่อเพื่อน ๆ ทราบว่าพระธาตุประจำปีเกิดของตนเองอยู่ที่ไหน จังหวัดอะไรแล้วล่ะก็… อย่าลืมหาโอกาสไปกราบไหว้พระธาตุสักครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลกันด้วยนะคะ