“พิธีฌาปนกิจ” ถือได้ว่าเป็นพิธีที่สำคัญมากที่สุดของพิธีงานศพไทยค่ะ เนื่องจากเป็นพิธีกล่าวอำลาและแสดงความอาลัยแก่ผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่ศพจะเข้าสู่เชิงตะกอน วันนี้หรีดมาลาจะมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องราวและขั้นตอนในการปฏิบัติของพิธีนี้ให้ทราบกันค่ะ
Credit by: https://thaipublica.org/2011/09/funerals2/
ก่อนเริ่มทำ “พิธีฌาปนกิจ” หรือ “เผาศพ” นั้น เจ้าภาพที่เป็นบุคคลในครอบครัว หรือญาติพี่น้องของผู้ล่วงลับจะต้องทำ มีดังต่อไปนี้คือ…
1. กำหนดวันที่จะทำการฌาปนกิจศพที่แน่นอน แล้วจึงทำความตกลงกับเจ้าหน้าที่ของวัดหรือฌาปนสถานก่อน เพื่อเป็นการเลือกจองวันและเวลาที่ต้องการ
2. ในกรณีที่มีการบรรจุเก็บศพไว้ก่อนจะทำการฌาปนกิจ จะต้องนำศพมาตั้งสวดพระอภิธรรมอีกวาระหนึ่ง ด้วยการสวดก่อน 1 คืน แล้ววันรุ่งขึ้นจึงจะทำพิธีฌาปนกิจ หรือไม่ต้องมีพิธีสวดอภิธรรมอีกก็ได้ค่ะ เพียงแค่ยกศพขึ้นตั้ง โดยในตอนเช้าให้เลี้ยงเพลพระและนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นเทศน์พระธรรมเทศนาในตอนบ่าย แล้วจึงทำการฌาปนกิจศพในตอนเย็น การกระทำเช่นนี้มักเรียกกันว่า “ตั้งเช้า เผาเย็น” ค่ะ แต่หากศพนั้นเป็นบุพการี (พ่อแม่), สามี หรือภรรยา เราควรตั้งสวดพระอภิธรรมอีกหนึ่งคืนก่อน เพื่อให้เกียรติและรำลึกถึงผู้เสียชีวิต อีกทั้งยังเป็นการบำเพ็ญกุศลเพิ่มเติมให้อีก
3. บำเพ็ญกุศลอุทิศให้ผู้ล่วงลับก่อน ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทำพิธี “บวชหน้าไฟ” ให้แก่ลูกหลาน, นิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป เพื่อสวดพระพุทธมนต์และถวายภัตตาหารเพล, จัดให้มีเทศนาธรรม 1 กัณฑ์, นิมนต์พระสงฆ์สวดมาติกา-บังสุกุล (พระสงฆ์จำนวน 10 รูป หรือเท่าอายุผู้ล่วงลับ หรือตามศรัทธา) และถวายเครื่องไทยธรรมและกรวดน้ำค่ะ
4. เตรียมอุปกรณ์หลักที่ต้องใช้ใน พิธีฌาปนกิจ ได้แก่…
– เครื่องไทยธรรม ผ้าสบงถวายพระสวดมนต์ฉันเพล
– เครื่องไทยธรรมผ้าไตร และเครื่องติดกัณฑ์เทศน์ถวายพระเทศน์
– ผ้าไตรประธานเพื่อทอดบังสุกุล และมหาบังสุกุลก่อนทำการฌาปนกิจ
– ผ้าสบงถวายพระสวดมาติกา-บังสุกุลตามจำนวนพระสวด
– ดอกไม้จันทน์สำหรับประธานในพิธี และดอกไม้จันทน์ให้กับแขกผู้ร่วมงาน
5. หลังจากบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ผู้ล่วงลับแล้ว ก่อนจะเคลื่อนศพไปตั้งที่เมรุนั้น ให้ลูกหลาน ญาติพี่น้อง หรือคนใกล้ชิดกับผู้ล่วงลับได้ทำพิธีขอขมาศพ เพื่อเป็นการอภัยโทษและอโหสิกรรมที่เคยล่วงเกินต่อกัน ด้วยการตั้งจิตหรือกล่าวคำขอขมาต่อศพนั้น
ในช่วงเช้าของพิธีฌาปนกิจ เจ้าภาพจะต้องนิมนต์พระสงฆ์ 1 รูป เป็นผู้นำในขบวนแห่ศพเวียนรอบเมรุ และมีคนถือเครื่องทองน้อยหรือกระถางธูปนำหน้าศพ แต่ถ้าศพนั้นมีรูปถ่ายของผู้ล่วงลับที่ต้องนำไปไว้ในที่บำเพ็ญกุศล ก็ต้องมีคนถือรูปถ่ายนำหน้าศพด้วยเช่นกันค่ะ จากนั้นจึงตามด้วยเจ้าภาพ ลูกหลาน และเครือญาติของผู้ล่วงลับช่วยกันแห่ศพเวียนเมรุทั้งหมด 3 รอบ โดยลำดับการแห่ศพถือหลักดังนี้คือ “พระสงฆ์-กระถางธูป-รูปภาพ-ศพ-ญาติมิตร” ค่ะ ซึ่งการแห่ศพเวียนเมรุนี้จะต้องเริ่มจากบันไดหน้าเมรุและเดินเวียนซ้าย (เมรุอยู่ทางด้านซ้ายมือของผู้เดิน) ทั้งหมด 3 รอบ เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้ล่วงลับ และเป็นปริศนาเกี่ยวกับกฎไตรลักษณ์ที่ว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” หรือการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งสามภพ คือ ในโลก นรก และสวรรค์ และเมื่อแห่ศพเวียนเมรุครบทั้ง 3 รอบแล้ว เจ้าหน้าที่จึงนำศพขึ้นตั้งบนเมรุ
เมื่อถึงช่วงเย็นของพิธีพิธีฌาปนกิจ ก่อนจะทำการฌาปนกิจก็จะมีการกล่าวชีวประวัติของผู้ล่วงลับ เพื่อรำลึกถึงคุณความดีต่าง ๆ ที่ผู้ล่วงลับเคยกระทำไว้ และให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ตระหนักถึงสัจธรรมของชีวิตแล้วจึงทอดผ้าบังสุกุล จากนั้นเจ้าภาพจึงจะเชิญแขกผู้ร่วมงานนำดอกไม้จันทน์และธูปเทียนสำหรับขอขมาศพขึ้นเมรุเพื่อประชุมเพลิง โดยนำดอกไม้จันทน์วางไว้ที่ใต้เชิงตะกอนสำหรับจุดไฟ หรือวางหน้าพานศพ อาจไหว้เคารพหรือกล่าวขอขมาในใจก่อนแล้วค่อยวางดอกไม้จันทน์และธูปเทียนลงแล้วจึงเดินลงบันไดอีกข้างหนึ่ง เพราะหากเดินย้อนกลับไปทางขึ้นจะทำให้ขวางทางเดินของผู้อื่นได้ค่ะ
หลังเสร็จสิ้นพิธีฌาปนกิจแล้ว เจ้าภาพ ลูกหลาน หรือเครือญาติของผู้ล่วงลับสามารถเก็บอัฐิได้หลังจากเผาศพในวันนั้นเลย หรือจะทำในเช้าวันรุ่งขึ้นก็ได้ค่ะ โดยเจ้าภาพจะนิมนต์พระสงฆ์มาพิจารณา “บังสุกุลอัฐิ” หรือที่เรียกว่า “แปรรูป” หรือ “แปรธาตุ” ค่ะ เมื่อทำพิธีเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าภาพจะเก็บอัฐิใส่โกศ โดยเลือกเก็บอัฐิจากร่างกายทั้ง 6 แห่ง คือ กะโหลกศีรษะ 1 ชิ้น, แขนทั้งสอง, ขาทั้งสอง และซี่โครงหน้าอก 1 ชิ้น ส่วนอัฐิที่เหลือ รวมทั้งขี้เถ้าจากการเผาศพจะนำไปทำ “พิธีลอยอังคาร” ค่ะ