หรีดมาลาสั่งซื้อ ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
หรีดมาลา
หรีดมาลา
หรีดมาลา

“พิธีรดน้ำศพ” กับความเชื่อและขั้นตอนการปฏิบัติ

พิธีรดน้ำศพ 1

Credit by: http://www.sadaocity.go.th/gallery_tab/gallery_detail/933

“พิธีรดน้ำศพ” ถือเป็นขั้นตอนแรกในพิธีงานศพไทย ซึ่งจะจัดขึ้นหลังจากผู้ล่วงลับนั้นเสียชีวิตไปไม่นานนักก่อนนำศพใส่โลงค่ะ โดยส่วนมากเรามักเชิญแขกผู้ร่วมงานที่เป็นคนใกล้ชิด ญาติสนิทมิตรสหาย และบุคคลที่เคารพนับถือไปรดน้ำศพ เพื่อแสดงความเคารพและอาลัยต่อผู้ที่จากไปค่ะ วันนี้หรีดมาลาจะมาแนะนำขั้นตอนการปฏิบัติในพิธีรดน้ำศพและเกร็ดความรู้เกี่ยวกับพิธีนี้มาฝากกันค่ะ

การอาบน้ำศพ

ก่อนจะทำพิธีรดน้ำศพ ทางญาติของผู้เสียชีวิตจะทำการอาบน้ำหรือชำระร่างกายของศพให้สะอาด เพราะเชื่อว่าจะทำให้ผู้ล่วงลับเดินทางไปสู่ภพภูมิอื่นได้อย่างสะอาดบริสุทธิ์ค่ะ โดยบุตร ธิดา หรือญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตจะทำหน้าที่อาบน้ำศพเท่านั้น ไม่นิยมเชิญคนภายนอก เนื่องจากถือว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว ซึ่งการอาบน้ำศพนี้จะอาบด้วยน้ำอุ่นก่อนแล้วล้างด้วยน้ำเย็น และฟอกสบู่ขัดถูร่างกายศพให้สะอาด ทั้งนี้จะมีการใช้สำลีอุดจมูกศพ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเหลืองไหลออกและแมลงไต่ตอมค่ะ เมื่ออาบน้ำศพเสร็จแล้วก็นำขมิ้นมาทาทั่วร่างกายศพ รวมไปถึงฝ่ามือฝ่าเท้า แล้วจึงประพรมด้วยน้ำหอม แต่หากเป็นศพที่ตนเคารพนับถือ เช่น บิดา มารดา ฯลฯ ก็จะใช้ผ้าขาวหรือผ้าเช็ดหน้ามาซับใบหน้า และฝ่ามือฝ่าเท้า เพื่อเก็บไว้กราบไหว้บูชา หรือใช้เป็นผ้าประเจียด จากนั้นจึงจะแต่งตัวศพตามฐานะของผู้เสียชีวิต โดยให้ใส่เสื้อผ้าที่สะอาดและใหม่ที่สุดเท่าที่มีอยู่ แต่หากเป็นข้าราชการก็ให้แต่งเครื่องแบบชุดขาวเต็มยศ ไม่ต้องมีผ้าคลุมใด ๆ ทั้งสิ้น และเมื่อแต่งตัวศพเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงจะนำศพขึ้นนอนบนเตียงสำหรับรอการรดน้ำศพต่อไป

พิธีรดน้ำศพ 2

Credit by: http://beritamuslimmag.com

 


ร้านพวงหรีด “หรีดมาลา” บริการจัดส่งพวงหรีด ฟรี! พื้นที่กรุงเทพ


 

การตั้งเตียงพิธีรดน้ำศพ

ในพิธีรดน้ำศพนั้น ส่วนมากจะนิยมตั้งเตียงไว้ทางด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย โดยให้ตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ด้านบนศีรษะของศพ จากนั้นจึงค่อยจัดร่างศพให้นอนหงายเหยียดยาว หันด้านขวามือของศพ หรือด้านปลายเท้าของศพให้มาอยู่ทางแขกผู้ที่มาร่วมเคารพศพค่ะ พร้อมกับจัดมือขวาให้เหยียดออกห่างจากตัวศพเล็กน้อยและแบมือเหยียดออก เพื่อคอยรับการรดน้ำศพ และใช้ผ้าใหม่ๆ หรือผ้าแพรคลุมตลอดร่างศพนั้น แต่จะเปิดเฉพาะหน้าและมือขวาของศพเท่านั้น แต่หากเป็นศพที่ประสบอุบัติเหตุ อวัยวะฉีกขาดในสภาพที่ไม่น่าดูล่ะก็… ให้โยงสายสิญจน์จากร่างหรือหีบศพไปยังภาชนะรองรับการรดน้ำศพแล้วประกอบพิธีรดน้ำที่สายสิญจน์นั้น โดยไม่ต้องเปิดผ้าคลุมศพเมื่อประกอบพิธีค่ะ ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีได้แก่ ขันน้ำพานรองขนาดใหญ่สำหรับตั้งไว้คอยรองรับน้ำที่รดมือศพแล้ว, น้ำมนต์ผสมน้ำสะอาด โรยด้วยดอกไม้หอมหรืออาจจะใช้น้ำอบ น้ำหอมผสมด้วย และขันเล็ก ๆ สำหรับตักน้ำยื่นให้แก่ผู้ที่มารดน้ำศพค่ะ

พิธีรดน้ำศพ

ก่อนเริ่มพิธีรดน้ำศพนั้น ส่วนมากจะนิยมให้เจ้าภาพหรือเชิญผู้มีอาวุโสมาเป็นประธานในพิธี เพื่อจุดเครื่องบูชาพระรัตนตรัย แล้วจุดเครื่องทองน้อยหรือธูปเทียนทางด้านศีรษะของศพ จากนั้นจึงเริ่มพิธีต่อไปค่ะ โดยทั่วไปแล้วพิธีนี้จะนิยมเริ่มในเวลา 16.00 – 17.00 น. ค่ะ ซึ่งเจ้าภาพ ลูกหลาน ญาติพี่น้องของผู้ล่วงลับจะทำการรดน้ำศพเสียก่อน จากนั้นจึงจะเชิญแขกผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ ที่เป็นคนใกล้ชิด ญาติสนิทมิตรสหาย บุคคลที่เคารพนับถือ หรือคนรู้จัก โดยลูกหลานหรือบุคคลใกล้ชิดกับผู้ล่วงลับจะทำหน้าที่รับ-ส่งภาชนะรดน้ำศพให้กับแขกผู้ร่วมงานศพค่ะ สำหรับแขกที่มารดน้ำศพนั้นให้ทักทายและแสดงความเสียใจต่อเจ้าภาพ แล้วจึงนั่งรอในที่จัดเตรียมไว้ เมื่อเจ้าภาพเชิญให้ไปรดน้ำยังบริเวณที่ตั้งศพ ควรทำความเคารพศพก่อนแล้วจึงรดน้ำลงบนฝ่ามือขวาของศพที่ยื่นออกมา พร้อมทั้งกล่าวคำอาลัยหรืออโหสิกรรมให้กับผู้ล่วงลับค่ะ

เมื่อทราบถึงเกร็ดความเชื่อเล็ก ๆ น้อย ๆ และขั้นตอนการปฏิบัติในพิธีรดน้ำศพกันไปแล้ว ครั้งหน้าหรีดมาลาจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับ “พิธีสวดอภิธรรม” กันต่อค่ะ

 

บริการจัดส่งพวงหรีดทั่วไทย

Banner